It\’s all about iNteLlectual bAnkRupt

พฤศจิกายน 7, 2007

เต๋า-เล่าจื้อ

Filed under: just me — kuzomka @ 10:55 am

ปรัชญาเต๋า ( 道教 ) ก่อตัวขึ้นในราว 250 ปีก่อนคริสตกาล โดยนักปราชญ์ที่โด่งดังในสมัยนั้น คือ เหลาจื้อ ซึ่งมีชีวิตอยู่ร่วมสมัยเดียวกันกับขงจื้อ มีเรื่องเล่าที่เชื่อสืบทอดกันมาว่าเขาได้บันทึกคำปรัชญาของเขาขึ้นระหว่างที่ได้เดินทางไปยังชายแดนแห่งหนึ่ง เนื่องจากมีคนขอให้เขาเขียนไว้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง โดยคำสอนนี้มีความยาวประมาณ 5000 คำ และได้ถูกเรียกต่อมาว่า คัมภีร์เต๋าเต๋อจิง แม้ว่าในปัจจุบันจะมีนักวิชาการหลายคนเห็นว่าคัมภีร์เต๋าเต๋อจิงอาจไม่ได้เขียนขึ้นโดย เหลาจื้อ แต่อาจเป็นการรวบรวมขึ้นในภายหลัง อย่างไรก็ดีไม่ว่าคัมภีร์เต๋าเต๋อจิงจะถูกเขียนขึ้นในสมัยใด หรือโดยใคร คัมภีร์เล่มนี้ก็ยังคงยังประโยชน์ให้กับคนรุ่นหลังอย่างเรา ๆ ได้อย่างดีไม่แพ้คัมภีร์ของขงจื้อเลยทีเดียว 

การตีความปรัชญาเต๋าให้ถ่องแท้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า คัมภีร์เต๋าเต๋อจิงเป็น คัมภีร์ฝ่ายโลกุตตรธรรม คัมภีร์การปกครอง คัมภีร์ฝ่ายโลกุตรธรรมและการปกครองพร้อม ๆ กัน หรือไม่เกี่ยวของกับโลกุตรธรรมหรือการปกครองแต่อย่างใด[1] คำสอนที่เปิดกว้างให้กับการตีความของเหลาจื้อนี่เองที่ทำให้การศึกษาปรัชญาเต๋ามีเสน่ห์ และยังคงมีผู้ศึกษาอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน การจะทำความเข้าใจเต๋านั้นจะง่ายยิ่งขึ้นเมื่อได้นำปรัชญาเต๋าไปเปรียบเทียบกับปรัชญาของขงจื้อ เนื่องจากหลักคำสอนของทั้งสองเรียกได้ว่าแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ ขงจื้อนั้นเป็นนักมนุษยนิยมและให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ในทางสังคม รวมถึงจารีตประเพณี ส่วนเต๋านั้นเรียกได้ว่าเป็นปรัชญาแบบธรรมชาตินิยม ที่เรียกว่าเป็นปรัชญาแบบธรรมชาตินิยมนี้ไม่ได้หมายความว่าให้ประชาชนไปอยู่ในป่าเขา หากเป็นการดำเนินชีวิตในวิถีทางแบบธรรมชาติ คือ ไม่เอากฎเกณฑ์ จารีต ธรรมเนียม หรือประเพณีไปเป็นกรอบอย่างเช่นคำสอนของขงจื้อ ซึ่งกลิ่นอายของปรัชญาแบบธรรมชาตินิยมนี้ปรากฏอยู่ทั่วไปในคัมภีร์เต๋าเต๋อจิงเช่นในบทที่ 16 ความตอนหนึ่งว่า การกลับไปสู่รากฐานเดิมที่ให้กำเนิด คือความสงบ เรียกว่ากลับไปสู่ธรรมชาติเดิมของตน กลับไปสู่ธรรมชาติเดิมของตน ย่อมค้นพบกฎเกณฑ์อันไม่แปรเปลี่ยน เมื่อทราบกฎเกณฑ์อันไม่แปรเปลี่ยน จึงเรียกได้ว่าเป็นผู้รู้แจ้ง หากไม่รู้กฎเกณฑ์อันไม่แปรเปลี่ยนนี้ ย่อมนำความเสื่อมสลายมาสู่ตน[2] ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากภูมิลำเนาของเหลาจื้อเองที่อาศัยอยู่ในทางภาคใต้ที่ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าในทางภาคเหนือที่ขงจื้ออาศัยอยู่ ทำให้ทรรศนะในการมองปัญหาและแก้ไขปัญหาของเหลาจื้อดำเนินไปในทิศทางเข้าหาธรรมชาติมากกว่า เพราะธรรมชาติที่เหลาจื้อได้สัมผัสนั้นเป็นมิตรกับมนุษย์มากกว่าธรรมชาติในทางภาคเหนือที่ขงจื้อได้สัมผัส  ในที่นี้อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ปรัชญาแบบเต๋าเสนอให้คนกลับคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งหมายถึงธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ และธรรมชาติของสรรพสิ่งที่ดำรงอยู่มาก่อนที่มนุษย์จะได้วางกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในการประพฤติปฏิบัติระหว่างกัน หรือกระทั่งในทางความคิดด้วย

อีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าปรัชญาเต๋านั้นมีลักษณะโจมตีกฎเกณฑ์ การโจมตีกฎเกณฑ์ของเต๋าในที่นี้วางอยู่บนพื้นฐานความเชื่อในเรื่องบ่อเกิดปัญหาของเหลาจื้อที่ว่า ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์นั้นล้วนแล้วแต่เกิดมาจากการปรุงแต่งของมนุษย์ทั้งสิ้น กล่าวคือที่สังคมมนุษย์เกิดความวุ่นวายขึ้นก็เนื่องมาจากการปรุงแต่งทางสังคมของมนุษย์ หากมนุษย์ละทิ้งอารยธรรม กฎเกณฑ์ที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมขึ้นได้ มนุษย์ก็จะพบกับความสุข ดังปรากฏในบทที่ 18 ความว่า เมื่อสัจธรรมแห่งเต๋าเสื่อมโทรมลง ความถูกต้องและความดีงามก็เกิดขึ้น เมื่อความรอบรู้และความเฉลียวฉลาดเกิดขึ้น ความหน้าไหว้หลังหลอกก็ติดตามมา เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติทั้งหก ไม่เป็นไปโดยปรกติสุข ก็เกิด บิดาใจดี และ บุตรกตัญญู เมื่อประเทศชาติอยู่ในภาวะยุ่งเหยิง คุณค่าของขุนนางภักดีก็เกิดขึ้น[3] จากบทดังกล่าวนี้จะเห็นได้ว่า เต๋ามองว่าหากสังคมอยู่ในภาวะปรกติสุขก็ไม่จำเป็นต้องมาสอนกันถึงเรื่องความสัมพันธ์ทั้งหก ไม่ต้องมาสอนเรื่องการเป็นบุตรกตัญญู หรือกระทั่งเต๋าเองที่เกิดขึ้นก็เพราะความถูกต้องและความดีงามนั้นเสื่อมลง หากความถูกต้องและความดีงามอยู่ในภาวะปรกติก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีเต๋าอยู่สังคมก็สามารถดำเนินไปอย่างสงบและประชาชนก็จะพบกับความสุขได้

การปฏิเสธสังคมอารยะอันประกอบไปด้วยจารีต ประเพณี รวมถึงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของเต๋านั้นสาระสำคัญคือ ยึดหลักแห่ง การไม่กระทำ การไม่กระทำในที่นี้ไม่ได้หมายถึงไม่ต้องทำอะไรเลย หากแต่เป็นการไม่กระทำสิ่งที่ขัดกับธรรมชาติ ดังปรากฏในบทที่ 37 ความว่า เต๋าไม่เคยกระทำ แม้กระนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็สำเร็จลุล่วง หากกษัตริย์และเจ้านครสามารถรักษาเต๋าไว้ได้ โลกก็จะเปลี่ยนแปลงไปโดยความต่อเนื่อง เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปและเกิดการกระทำต่าง ๆ ขึ้น จงปล่อยให้ความเรียบง่ายแต่บรรพกาลเป็นผู้ควบคุมการกระทำ ความเรียบง่ายแต่บรรพกาลนี้ไร้ชื่อ มันช่วยขจัดความอยากทั้งปวง ความสงบย่อมเกิดขึ้น ดั้งนั้นโลกย่อมถึงซึ่งสันติสุข[4] หรือจะเป็นในส่วนที่เต๋าพูดถึงเรื่องการปกครองโดยการไม่กระทำ เพื่อยังความสงบสุขให้กับราษฎรเอาไว้ในบทที่ 57 ว่า ปกครองอาณาจักรด้วยธรรม ทำศึกด้วยเพทุบาย มีชัยต่อโลกโดยการไม่กระทำ เหตุใดข้าพเจ้าจึงทราบดังนี้ จากสิ่งเหล่านี้คือ ข้อห้ามยิ่งมาก ประชาราษฎรยิ่งยากจน อาวุธยิ่งแหลมคม ประเทศยิ่งวุ่นวายสับสน วิทยาการยิ่งมีมาก สิ่งประดิษฐ์ยิ่งแปลกประหลาด กฎหมายยิ่งมีมาก โจรผู้ร้ายยิ่งชุกชุม ดังนั้นปราชญ์จึงกล่าวไว้ว่า ข้าพเจ้ามิได้กระทำ ราษฎรก็ปรับปรุงตนเอง ข้าพเจ้าตั้งตนในความสงบ ราษฎรก็ประพฤติตนถูกต้อง ข้าพเจ้าไม่เข้ายุ่งเกี่ยว ราษฎรก็ร่ำรวย ข้าพเจ้าไร้ความทะยานอยาก ราษฎรก็มีความสามัญและซื่อสัตย์””[5] นั่นคือผู้ปกครองที่ดีไม่จำเป็นต้องวางกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นมา เพียงแต่ปกครองโดยไม่ปกครอง คือทำตนเป็นตัวอย่าง ไม่เข้าไปก้าวก่ายในกิจการของราษฎรจนเกินไป เท่านี้ก็จะสามารถทำให้สังคมมีความสงบสุขได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องกำหนดกฎเกณฑ์ใด ๆ ขึ้นมา เพราะเมื่อไรที่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมา เมื่อนั้นได้แสดงให้เห็นว่าสังคมนั้นมีความเสื่อมทรามลงดังได้กล่าวแล้วในข้างต้น นอกจากนี้เหลาจื้อยังเห็นว่ากฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นมานั้นยังไม่สามารถใช้กำกับ หรือสร้างให้สังคมสงบสุขได้ดังปรากฏในบทที่ 74 ความว่า ประชาราษฎร์ไม่พรั่นพรึงต่อความตาย เหตุใดจึงพยายามเอาโทษประหารไปสยบ และหากราษฎรกลัวความตายจริง เมื่อจับผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยการประหาร เหตุใดจึงมีผู้กระทำผิดต่อไปอีก…[6] ดังนั้นการมีกฎเกณฑ์กำหนดขึ้นในสังคมก็คงเป็นแต่เพียงเรื่องไร้ประโยชน์เท่านั้น เนื่องจากกฎเกณฑ์เหล่านั้นไม่สามารถรังสรรค์ความสุข สงบให้กับบุคคลในสังคมได้ตามทรรศนะของเหลาจื้อ

ไม่เพียงเท่านี้ เหตุผลในการโจมตีกฎเกณฑ์ของเหลาจื้อยังไม่ได้มีอยู่เพียงแค่กฎเกณฑ์เหล่านั้นไม่ได้ยังสร้างความสงบสุขให้กับสังคม หากแต่กฎเกณฑ์เหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่สร้างปัญหาให้กับสังคมหรือสร้างความยากลำบากให้กับราษฎรอีกด้วย ดังในบทที่ 75 กล่าวไว้ว่า เมื่อราษฎรอดอยากยากแค้น เพราะผู้ปกครองเก็บภาษีมากเกินไป ราษฎรที่หิวโหยย่อมไม่อาจปกครองได้ นี่เกิดจากผู้ปกครองเข้าไปยุ่งเกี่ยวมากเกินไป ทำให้ปกครองพลเมืองไม่ได้…”[7] เหลาจื้อเห็นว่าการกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมานั้นเป็นเพียงเครื่องมือให้กับกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดได้เช่นกัน ดังที่กล่าวในบทนี้คือ หากมีการกำหนดเรื่องการเก็บภาษีขึ้นมาแล้วผู้ปกครองใช้กลไกนี้เก็บภาษีประชาชนมากจนเกินควร หรือมากเกินกว่าที่ประชาชนจะสามารถจ่ายให้ได้ ก็จะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน และสังคมส่วนรวมในที่สุด

ทั้งนี้เหตุแห่งการโจมตีกฎเกณฑ์ของเต๋าอีกประการหนึ่งนั่นคือ ความเชื่อในมโนทัศน์คู่อันได้แก่ ความก้าวหน้า กับการกลับสู่กำเนิดเดิม รูปกับความว่าง วัฒนธรรมกับธรรมชาติ การกระทำกับการไม่กระทำ และความรู้กับความไม่รู้[8] เหลาจื้อเสนอให้มอง และทำความความเข้าใจธรรมชาติทั้งทางไปและกลับไปพร้อม ๆ กัน กล่าวคือ มีรูปก็ย่อมมีความว่างเกิดขึ้น ดังในบทที่ 11 ความว่า ล้อรถนั้นประกอบด้วยไม้สามสิบซี่ รวมกันอยู่ที่แกน วงรอบนอกของล้อและไม้ทั้งสามสิบซี่นั้นคือความ มี ดุมล้อนั้นกลับกลวง คือความ ว่าง จากความว่างนี้เอง คุณประโยชน์ของล้อก็เกิดขึ้น…เราได้ใช้ประโยชน์จากความมี และได้รับประโยชน์จากความว่าง[9] เช่นนี้เป็นต้น แนวความคิดเรื่องมโนทัศน์คู่นี้เสนอให้มนุษย์ไม่เพียงมองก้าวไปข้างหน้าอย่างเดียว หากแต่ต้องมองในมุมกลับด้วย ดังเช่นเรื่องล้อรถซึ่งหากไม่มีช่องว่างระหว่างล้อรถนั้น ล้อรถที่ประดิษฐ์ขึ้นมาก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งลักษณะหรือธรรมชาติของการวางกฎเกณฑ์นั้นมักมองและพยายามสร้างกลไกการแก้ปัญหาแต่ในลักษณะการดำเนินไปข้างหน้าเท่านั้น เช่นให้มีโทษประหารแก่ผู้กระทำผิด แต่ไม่มีกฎเกณฑ์ใดที่พยายามสร้างกลไกป้องกันที่ตัวผู้กระทำ หรือพยายามสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน

หวังให้ประเทศเล็กที่มีพลเมืองน้อย มีอาหารพอที่จะเลี้ยงดูพลเมือง มากกว่าที่เขาต้องการสิบเท่าร้อยเท่า ให้ประชาชนเห็นคุณค่าของชีวิต และไม่ท่องเที่ยวพเนจรไปไกล ถึงแม้จะมีพาหนะเรือและรถ ก็ไม่มีใครปรารถนาจะขับขี่ ถึงแม้จะมีเกราะและอาวุธ ก็ไม่มีโอกาสจะใช้ ให้กลับไปใช้การจดจำเรื่องราว ด้วยการผูกเงื่อนแทนการเขียนหนังสือ ให้เขานึกว่าอาหารพื้น ๆ นั้นโอชะ เสื้อผ้าอันสามัญนั้นสวยงาม บ้านเรือนธรรมดานั้นสุขสบาย ประเพณีวิถีชีวิตนั้นน่าชื่นชม ในระหว่างเพื่อนบ้านต่างเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน จนอาจได้ยินเสียงไก่ขันสุนัขเห่าจากข้างบ้าน และตราบจนวันสุดท้ายของชีวิต จะไม่มีใครได้เคยออกไปนอกประเทศของตนเลย[10] ในบทที่ 80 นี้ได้อธิบายสังคมอุดมคติของเต๋าไว้อย่างชัดเจนที่สุด กล่าวคือ เป็นเมืองที่มีความเป็นอยู่ที่พอเพียง ผู้ปกครองสามารถสร้างความสุขสงบให้เกิดขึ้นในสังคมได้ จนทำให้ประชาชนไม่นึกอยากจะไปไหน ทั้งนี้สังคมอุดมคติสี้จะเกิดขึ้นได้ก็เนื่องมาจากผู้ปกครองจำต้องยึดเต๋าเป็นหลักในการปกครอง โดยใช้หลักการปกครองโดยไม่ปกครอง คือ ปกครองราษฎรแต่ไม่ได้เข้าไปบงการชีวิตของราษฎร ดำรงตนเหมือนน้ำในที่ต่ำ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นที่พึ่งให้กับประชาชน พร้อมกันนั้นก็ยังต้องไม่ยึดติดต่อสิ่งที่ได้กระทำ คือเมื่อกิจการใดเสร็จสิ้นลงก็ให้ปล่อยวางลงเสีย หากผู้ปกครองสามารถยึดหลักแห่งเต๋าและปฏิบัติได้แล้ว ราษฎรก็จะดำเนินตามและสามารถร่วมกันรังสรรค์สังคมที่สงบสุขโดยปราศจากกฎเกณฑ์มาควบคุมพฤติกรรมระหว่างกันได้    


[1] ดูใน สุวรรณา สถาอานันท์ กระแสธารปรัชญาจีน ข้อโต้แย้งเรื่อง ธรรมชาติ อำนาจ และจารีต . กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  พิมพ์ครั้งที่ 3, 2548 น.55[2] เต๋าเต็กเก็ง บทที่ 16 หน้า 69-70[3] เต๋าเต็กเก็ง บทที่ 18 หน้า 73

[4] เต๋าเต็กเก็ง บทที่ 37 หน้า 109

[5] เต๋าเต็กเก็ง บทที่ 57 หน้า 151

[6] เต๋าเต็กเก็ง บทที่ 74 หน้า 180

[7] เต๋าเต็กเก็ง บทที่ 75 หน้า 182

[8] ดูใน สุวรรณา สถาอานันท์ กระแสธารปรัชญาจีน ข้อโต้แย้งเรื่อง ธรรมชาติ อำนาจ และจารีต . กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  พิมพ์ครั้งที่ 3, 2548 น.58-59

[9] เต๋าเต็กเก็ง บทที่ 11 หน้า 58

[10] เต๋าเต็กเก็ง บทที่ 80 หน้า 188

บลอกที่ WordPress.com .